สัพเพเหระ “เบรกกกกกกก” หยุดให้อยู่ รู้ให้ซึ้ง จึงจะไม่ “ตำ” !!!

 

เรื่อง : อินทรภูมิ์ แสงดี

ข้อมูลบางส่วน : คุณสุชาติ เทเวศม์อุดม (Driver Motorsport)

 

         คอลัมน์ XO KNOWLEGDE นี้ เป็นอีกความตั้งใจของกระผม ที่แม้ว่าจะไม่ใช่คอลัมน์ที่คิดขึ้นมาเอง เป็นการ “ขุดของเก่า” ขึ้นมาปัดฝุ่นใหม่ ก็คงไม่ใช่เรื่องแปลก หากของเก่านั้น มัน “มีค่า” เหมือนของที่เก็บไว้นานแล้วเพิ่งหาเจอ มันก็กลับมามีคุณค่าได้อีกครั้ง ด้วยความที่ผมได้อ่านคอลัมน์นี้มาตั้งแต่ยุคแรกเริ่ม ก็รู้สึกว่ามีประโยชน์  พอได้มีโอกาสมาทำตรงนี้ ก็เลยอยากจะให้มันกลับมา เพื่อสร้างประโยชน์ให้กับผู้อ่าน ตัวผมเองก็ได้ศึกษาข้อมูลเพิ่มอีกด้วย เรียกว่า “วิน วิน” ทั้งสองฝ่าย ข้อมูลแม้อาจจะไม่ใช่ “ลึกขั้นเทพ” หรือจะชั้นอ๋องชั้นเซียนชั้น Ha อะไรทั้งนั้น เรามาว่ากันสิ่งที่ “ทุกคนต้องอ่านแล้วเข้าใจได้ง่าย” คอลัมน์นี้ไม่ได้สอนให้คุณสร้างรถ แต่สอนให้คุณ “รู้ว่าไอ้อุปกรณ์ทั้งหลายแหล่มันมีประโยชน์อะไร” เอาเป็นว่า หากอ่านแล้วอยากจะให้ “เจาะ” เรื่องอะไรเพิ่มเติม ก็แจ้งมาใน Facebook หน้า Fanpage ของ XO AUTOSPORT ได้เลยครับ หรือใคร “เขิน” ไม่อยากออกสื่อ ก็เมล์มาบอกได้ที่ pp_xo@hotmail.com แล้วเราจะ “คัดเลือก” มาจัดให้ครับ…

เบรก ใครก็รู้ แต่น้อยคน “เข้าใจ”

ตอนแรกอยากจะตั้งหัวเรื่องว่า “เบรกให้อยู่ รู้ให้ซึ้ง มึ_จะได้ไม่ตำ” แต่ดูทรงแล้ว กบว. ไม่ให้ผ่านแน่ เลยเปลี่ยนเป็นตะกี้แทน เอาเถอะครับ ไอ้เรื่อง “เบรก” หรือ Brake แปลเป็นไทยได้ว่า “ระบบห้ามล้อ” จะมีหน้าที่ในการ “ชะลอหรือหยุดรถ” ถ้าไม่มีเบรก ก็คงจะ “เละ” กันเป็นแถบ เรื่องพรรค์นี้ใครก็รู้ เอามาเขียนทำไม แต่อยากจะ “บ่องตง” ว่า เรื่องเบรก “คนรู้มีเยอะ แต่ขาดคนเข้าใจ” งานนี้จะต้อง “รู้ให้ชัด” ว่าเบรกแต่ละอย่างมันเป็นอย่างไร ข้อดี ข้อด้อย ข้อควรระวัง เบรกไหนดี เบรกไหนห่วย หรือต่อให้ “เบรกเทพ” ก็ใช่ว่ามันจะดีเสมอไป ถ้า “ใช้ผิดวัตถุประสงค์” ไอ้เบรกเทพของสุดแพงอาจจะกลับมาทำร้ายเราได้อย่างไม่น่าเชื่อ ไม่เชื่อก็ลองดู…

รู้จักกับชนิดของเบรกกันก่อน

ในโลกนี้ก็มีเบรกอยู่หลายรูปแบบ สมัยโบราณก็จะใช้เบรกง่ายๆ เป็น “ก้ามปูหนีบ” เพื่อให้เกิด “ความฝืด” หยุดให้ล้อหมุนช้าลงได้ ถ้าไม่มี “ความฝืด” หรือ Mu ก็จะไม่สามารถหยุดรถได้ ณ ปัจจุบัน ระบบเบรกจะถูกใช้หลักๆ อยู่ 2 ประเภท ดังนี้…

 

ดิสก์เบรก

เบรกแบบ “จาน” ที่ใช้กันทั่วไป มีจานเบรก และมี “คาลิเปอร์” (Caliper) หรือ “ก้ามปูเบรก” เป็นตัวถ่ายแรงกดให้ผ้าเบรกเสียดสีจาน เป็นการ “สร้างความฝืด” เพื่อให้รถหยุด ดิสก์เบรกมักจะใช้กับ “ล้อหน้า” ของรถยนต์นั่ง รถกระบะ ปัจจุบันมีการพัฒนามาใช้ “ดิสก์เบรก 4 ล้อ” ทั้งหน้าและหลัง โดยมากจะอยู่ในรถยนต์นั่ง หรือรถสปอร์ตที่ใช้ความเร็วสูง ต้องการสมรรถนะในการเบรกที่ดี แต่ !!! ใช่ว่าดิสก์เบรกจะดีเสมอไป เดี๋ยวเราค่อยมาดูกัน ว่ามันมีเหตุผลอะไร ก่อนอื่นเรามาดูข้อดีและข้อเสียกันก่อนครับ…

ข้อดีของดิสก์เบรก

  1. ระบายความร้อนได้รวดเร็ว : ด้วยความที่มันเป็นระบบ “เปิด” จานเบรกโผล่ออกมาให้เราเห็น เพราะฉะนั้น การระบายความร้อนจึงทำได้รวดเร็วครับ เพราะมีลมโกรกตลอดเวลาขณะรถวิ่ง จึงเหมาะสมกับรถที่ใช้ความเร็วสูง ใช้เบรกรุนแรง จนเกิดความร้อนสูง ดิสก์เบรกจะระบายความร้อนได้ดี รวมถึงการระบาย “ฝุ่นผง” ที่เกิดจากผ้าเบรก รวมถึงฝุ่นละอองต่างๆ ออกไปจากตัวเองได้ดี
  2. ระบายน้ำได้รวดเร็ว : ในทางเดียวกับตะกี้ครับ เมื่อเราขับรถลุยน้ำ จริงอยู่ที่น้ำจะเปียกจานเบรก ทำให้เบรกลื่น แต่มันก็ระบายน้ำได้เร็วเช่นกัน เวลาเบรก ผ้าเบรกจะบีบและรีดน้ำออกไปเอง ทำให้สามารถเบรกอยู่ได้โดยใช้เวลาไม่นาน แถม Trick ให้อีกนิด เวลาขับรถลุยน้ำ ทิ้งระยะห่างไว้ อย่าจี้คันหน้ามาก จงจำไว้ว่า “เบรกไม่อยู่” เสมอ เมื่อพ้นจากน้ำ ให้ “เลียเบรก” ปล่อย เลีย สลับกัน เพื่อให้รีดน้ำออกไปจากหน้าจานเบรกก่อนครับ…
  3. ตรวจเช็กง่าย : ก็ไอ้ด้วยความที่มันเป็นระบบเปิดนี่แหละ เวลาสังเกตอะไรต่างๆ ก็ง่าย เช่น ดูความหนาของผ้าเบรก ดูสภาพของจานเบรก ที่อาจจะมีรอยขูด (Scratch) หรือรอยร้าว (Cracked) เกิดขึ้นได้ในรถที่เริ่มมีอายุ รวมไปถึงดูการรั่วซึมของคาลิเปอร์เบรกได้ง่ายอีกด้วย…
  4. สวยงาม : ด้วยความที่มันมีอุปกรณ์หลายชิ้น จึงสามารถออกแบบให้มีความสวยงามได้หลากหลาย จานเบรกเงาๆ เจาะรู เซาะร่อง อะไรก็ว่าไป คาลิเปอร์หลากสี หลายลูกสูบ หรือที่นิยมเรียกว่า “พอต” ทำให้ดูแล้ว “งดงาม” เหมาะกับรถซิ่งเสียนี่กระไร…
  5. ไม่ต้องคอยปรับตั้ง : ข้อดีประการสุดท้าย (เท่าที่นึกออก) ระบบดิสก์เบรก มันจะปรับตั้งตัวเองโดยอัตโนมัติ เมื่อผ้าเบรกสึกไป มันก็จะถูกระบบไฮดรอลิก (น้ำมัน) ดันกลับมาให้แนบจานเบรกอยู่เสมอ แต่กรณี “ผ้าเบรกบาง” จะฟ้องว่า “น้ำมันเบรกเริ่มพร่อง” โดยที่ไม่มีจุดรั่ว เพราะเมื่อผ้าเบรกบางลง น้ำมันเบรกก็ต้องดันให้ผ้าเบรกไปอยู่ที่เดิม มีช่องว่างมากขึ้น น้ำมันเบรกก็จะพร่องลงเป็นเรื่องปกติครับ…
  6. ตอบสนองการเบรกได้รวดเร็ว : การตอบสนอง (Reaction) ดี เพราะผ้าเบรก “สัมผัสกับหน้าจานเบรกตลอดเวลา” เวลาเหยียบเบรก มันจึงสามารถผ่องถ่ายแรงกดไปที่จานเบรกได้รวดเร็ว เสียเวลาน้อย…

ข้อเสียของดิสก์เบรก

  1. ชิ้นส่วนเยอะ ต้นทุนสูง : อันนี้ผมก็ไม่อยากเรียกข้อเสียสักเท่าไร มันเป็นเรื่องธรรมดามากกว่า แต่ว่าจะชิ้นส่วนเยอะกว่าดรัมเบรก ส่วนใหญ่มักจะเป็นชิ้นส่วนพวก “โอริง” กับ “ซีล” ต่างๆ ที่จะยิบย่อยหน่อย สมัยก่อนแพง แต่สมัยนี้ถูก เพราะมีใช้กันเยอะแยะ
  2. เสี่ยงต่อการคดงอได้ง่าย : จริงๆ แล้วมันก็ไม่ได้คดง่ายนักหรอกครับ ไอ้เรื่องจะคดก็มีอยู่ เช่น เวลาวิ่งมาจานเบรกร้อน แล้วจู่ๆ เจอน้ำ ฝนตกหนักกะทันหัน น้ำกระเด็นเข้าโดนจานเต็มๆ เกิดการ คด งอ หนักๆ ก็ “ร้าว” เข้าไปนั่น แต่จริงๆ แล้ว มันก็ออกแบบเผื่อมาอยู่แล้วครับ ถ้าไม่ได้จังหวะมาร้อนจัดจริงๆ แล้วเจอน้ำซัดเต็มๆ ซึ่งโอกาสนี้เกิดขึ้นได้ยาก ส่วนใหญ่แล้วก็จะเป็นไปตามอายุการใช้งานมากกว่า…
  3. เสี่ยงต่อการเป็นรอยได้ง่าย : บางทีเราขับรถไป เจอทางที่มีหิน กรวด ทรายหยาบ บ้าบออะไรต่างๆ มันมีโอกาสที่สิ่งเหล่านี้ “บินเข้ามากระทบจานเบรก” แล้วถ้ามันหลุดเข้าไปติดกับผ้าเบรก เวลาเบรกจะทำให้จานเกิดรอยได้…

ดรัมเบรก

         เกิดมาตั้งแต่สมัยโบราณกาล เป็น “พ่อดิสก์เบรก” ก็ยังได้ ระบบดรัมเบรก หรือเบรกแบบ “ดุม” คงไม่ต้องฝอยกันมาก เป็นลักษณะเบรกที่มีฝาครอบไปเลยทั้งอัน ภายในจะมีชุดก้ามปูเหมือนกัน แต่แทนที่จะ “บีบจาน” เหมือนดิสก์เบรก มันใช้การ “ถ่าง” เพื่อให้ผ้าเบรกเสียดสีกับด้านในของดุมเบรกแทน ปัจจุบันดรัมเบรกจะยังคงมีใช้อยู่นะครับ ส่วนมากแล้วจะอยู่ใน “เบรกหลัง” ของรถยนต์นั่งทั่วไปที่ราคาไม่แพงมาก เครื่องไม่แรงจัด แต่ความนิยมสูงสุดก็มักจะอยู่ใน “รถบรรทุก” ที่มักจะใช้ดรัมเบรก 4 ล้อกันอยู่…

ข้อดีของดรัมเบรก

  1. ให้การหยุดที่ดี : อะไรนะ ??? ดรัมเบรกเนี่ยนะหยุดดี ??? จริงๆ ครับ ถ้าขนาดเท่ากัน ดรัมเบรกให้ประสิทธิภาพที่ยอดเยี่ยม ออกจะได้เปรียบดิสก์เบรกอยู่ด้วยซ้ำ เนื่องจากดรัมเบรกจะใช้ผ้าเบรกขนาด “ยาวและใหญ่” จึงมีพื้นที่สัมผัสให้เกิดแรงฝืดสูงกว่าดิสก์เบรกที่มีพื้นที่ของผ้าเบรกสัมผัสกับจานน้อยกว่า อันนี้เรื่องจริงครับ เพราะรถบรรทุกขนาดใหญ่ ก็ยังใช้ดรัมเบรก ถ้าเบรกมันห่วยจริงๆ ก็คงหยุดน้ำมันเป็นสิบๆ ตันของรถพวกนี้ไม่ได้แน่…
  2. ให้การหยุดที่นิ่มนวล : ดรัมเบรกจะให้การหยุดที่นิ่มนวลกว่าดิสก์เบรก บางทีเหมือนกับหลอกความรู้สึกว่ามันไม่อยู่ แต่เอาเข้าจริงก็เบรกอยู่ ความรู้สึกมันอาจจะไม่ “จึ๊ก” เหมือนดิสก์เบรก เพราะว่าระยะห่างของผ้าเบรกกับดุมเบรก (Gap) มันมีอยู่ ไม่ได้สัมผัสกันตลอดเวลาเหมือนดิสก์เบรก จึงมีช่วงให้มัน “จับ” จึงเกิดความนุ่มนวลมากกว่า…
  3. ทนทาน : ด้วยความที่มันมีฝาครอบอยู่ จึงไม่มีสิ่งที่จะหลุดเข้าไปทำอันตรายได้ง่ายเหมือนดิสก์เบรก โครงสร้างของระบบกลไกดรัมเบรกนั้นไม่ซับซ้อนมากนัก เล่นกันง่ายๆ แบบ Manual รวมถึงต้นทุนการผลิตที่ไม่แพง ดังนั้น ดรัมเบรกจึงถูกใช้กับรถที่ใช้งานสมบุกสมบันเป็นหลัก…

ข้อเสียของดรัมเบรก

  1. ระบายความร้อนและฝุ่นไม่ดี : นี่เป็นข้อเสียที่มากที่สุดของดรัมเบรก ด้วยความที่มันเป็นระบบปิด มีฝาดุมครอบกลไกเบรกมิดชิด ทำให้การระบายความร้อนไม่ดีเลย มันจึงไม่เหมาะสำหรับการใช้ในรถที่ความเร็วสูง มีการเบรกบ่อยๆ เพราะเมื่อเบรกร้อนและระบายไม่ออก จะทำให้เบรก “ไหม้” และเบรก “เฟด” ไม่สามารถหยุดรถได้ จึงไม่ใช้ดรัมเบรกในรถสมรรถนะสูง รวมถึงการระบายฝุ่นผงผ้าเบรกไม่ดี สังเกตว่าถ้าใครเคยเปิดฝาดุมเบรกออกมา จะมี “ขี้เบรก” อยู่ด้านในเยอะมาก เป่าทีฟุ้งกระจาย เพราะมันออกไม่ได้นั่นเอง…
  2. เวลาลุยน้ำเบรกไม่อยู่ : ก็เหตุผลเดียวกับข้อแรก เมื่อมีน้ำไหลลอดเข้าไปในดรัมเบรก มันเข้าได้ง่ายครับ แต่ออกไม่ง่าย เพราะแรงดันน้ำจากภายนอกส่งเข้าไป น้ำจะ “ขัง” ทำให้เบรกลื่น หยุดไม่อยู่ คนเคยโดนจะรู้ครับ หนทางแก้เวลาขับรถลุยน้ำ ก็ต้องพยายาม “ย้ำและเลียเบรก” เอาไว้เสมอ…
  3. ไม่สวยงาม : ก็มันไม่มีอะไรอ่ะครับ มันเป็นฝาครอบธรรมดาๆ ไม่รู้จะทำให้มันสวยยังไง อันนี้ไม่ต้องอธิบายมากให้เปลืองหมึกนะครับ…
  4. มองเห็นกลไกเบรกได้ยาก : แน่นอนครับ มันมีฝาครอบ ก็ย่อมจะมองไม่เห็นกลไกด้านใน เราจะไม่รู้ว่าสภาพเบรกเป็นอย่างไร เช่น ผ้าเบรกเหลือมากน้อยแค่ไหน หรือแม่ปั๊มเบรกหลัง มีการรั่วซึมหรือไม่ ส่วนใหญ่จะรู้ก็ต่อเมื่อมีอาการเบรกผิดปกติ ไม่สามารถมองเห็นได้ก่อนเหมือนดิสก์เบรก จะตรวจอะไรทีต้องถอดฝาครอบออกมา งานนี้ต้อง “ผ่านมือช่าง” ไม่สามารถดูสภาพได้ด้วยตัวเอง ถ้าถอดไม่เป็น…
  5. ต้องคอยปรับตั้งตามระยะ : ด้วยความที่มันมีระยะห่างอยู่ เวลาผ้าเบรกสึกบางลง ระยะห่างจะเพิ่ม มันไม่ได้ชดเชยให้เหมือนดิสก์เบรก สังเกตได้ว่า เมื่อผ้าเบรกเริ่มบางลง เวลาเหยียบเบรกจะรู้สึกว่ามัน “ลึก” กว่าปกติ ก็ต้องตั้งระยะให้ได้ตามความเหมาะสม…

เบรกแบบหลายๆ พอต เอาไว้เพื่ออะไร

เป็นที่ชินตาของชาวรถซิ่งนะครับ ไอ้เรื่องเบรกหลายๆ พอต ที่ตอนนี้ลามไปถึง 8 พอต กันแล้ว คำว่า pot ถ้าแปลตรงตัว ก็คือ “หม้อ” แต่ความเป็นจริงแล้ว ควรจะเรียกว่า “ลูกสูบ” เพราะมันก็คือลูกสูบเบรก จะมี 1-2-4-6-8 ลูกสูบ ก็ว่าไป แต่ถ้าชินกับคำว่า “พอต” ก็ว่าไปตามนั้น สงสัยไหม จะมีพอตไปเยอะๆ เพื่ออะไรกัน ??? คำตอบก็คือ “เพื่อเพิ่มแรงกดให้กับเบรกเยอะขึ้น” สำหรับรองรับพวกรถแรงๆ เบรกโหดๆ ทั้งหลาย ถ้าถามว่าจะทำลูกสูบเดียวใหญ่ๆ ให้เบรกดีๆ เลยได้ไหม คำตอบคือ “ได้ครับ” เคยเจอ AUDI RS4 Quattro เรี่ยวแรง 400 กว่าม้า แต่ใช้เบรกหน้าแบบ “พอตเดียว” ใหญ่ๆ จากการทดสอบระยะเบรก (ของนิตยสารหัวนอก) ประสิทธิภาพเบรกพอตเดียวของ AUDI รุ่นนี้ ไม่ได้เป็นรองพวกเบรกพอตเยอะๆ ของรถรุ่นอื่นในระดับเดียวกันเลย มันจึงไม่เป็นความจริงเสมอไป ว่าเบรกพอตน้อยต้องห่วย หรือเบรกพอตมากต้องดีนะครับ แต่ทำไมถึงทำเบรกหลายพอตกันล่ะ…

เบรกหลายพอต เฉลี่ยแรงกดได้ดีกว่า

พูดถึงการทำเบรกพอตเดียวใหญ่ๆ นั้น มัน “กินพื้นที่มาก” เพราะลูกสูบจะต้องใหญ่โตมหาศาล เพื่อให้มันมีแรงกดเยอะๆ เส้นผ่านศูนย์กลางของลูกสูบที่มาก มันจะทำให้ “เปลืองเนื้อที่” แถมต้องทำคาลิเปอร์ใหญ่ บานออกไปด้านข้าง อะไรๆ ก็ต้องใหญ่ตามไปด้วย “ไม่ดีแน่นอน” และข้อด้อยของพอตเดียว คือ “แรงกดจะเน้นเฉพาะจุดตรงกลางมาก” จุดข้างๆ น้อยลงไปเรื่อยๆ อีกประการคือ พอตเดียวจะเป็นลูกสูบแบบ “กดผ้าเบรกฝั่งเดียว” ผ้าเบรกอีกฝั่งจะใช้กลไกสไลด์รับแรงมากด ทำให้ “แรงกดสองข้างไม่เท่ากัน” ก็ไม่ดีอีกเช่นกัน จึงไม่มีการใช้เบรกพอตเดียวใหญ่ๆ ให้เห็นในรถยนต์นั่ง ดังนั้น จึงมีการผลิตคาลิเปอร์แบบใช้ “ลูกสูบเล็กหลายอัน” หรือหลายพอต “วางเรียงกันเต็มพื้นที่ทั้งสองฝั่ง” มันก็จะเฉลี่ยแรงกดได้ “สมดุลดีเยี่ยม” เพราะแรงกดจะถูกเฉลี่ยไปเต็มหน้าผ้าเบรก ตัวผ้าเบรกก็ออกแบบได้ยาว เพิ่มพื้นที่กดได้อีกมาก แถมยังดูสวยงามอีกด้วย และนี่เอง ที่เบรกหลายพอต จึงมีบทบาทมากในมอเตอร์สปอร์ต และการโมดิฟาย…

คาลิเปอร์แบบ Mono Block ดีอย่างไร

เคยได้ยินกันนะครับ คาลิเปอร์แบบ “โมโนบล็อก” ที่เขาว่า “เทพนักเทพหนา” มันก็เป็นวิวัฒนาการไปอีกขั้นครับ แต่มันจะดีอย่างไร ต้องขอพูดถึงคาลิเปอร์แบบปกติ จะเป็นแบบ “แยกชิ้น” สองซีก แล้วมายึดติดกันด้วยนอต แต่โมโนบล็อก แปลว่า “เป็นชิ้นเดียวกันทั้งอัน” ไม่มีการแยกชิ้นอีกต่อไป เป็นการกลบ “ข้อด้อย” ของแบบแยกชิ้น ที่เวลาเบรกอย่างรุนแรง เกิดแรงดันที่สูงมากภายในคาลิเปอร์ เมื่อมันดันผ้าเบรกอย่างสุดๆ แล้ว มันก็จะดันให้ “คาลิเปอร์ถ่างออกจากกัน” แม้จะมีนอตยึด มันก็มีโอกาส “ยืด” ได้ พวกเราคงไม่เห็นผล แต่กับ “รถเซอร์กิต” ที่มีการใช้เบรกรุนแรงมากเกือบตลอดเวลา เหยียบเบรกกันแรงสุดๆ ความร้อนสูงจัดๆ นั่นแหละมีผลแน่ ดังนั้น จึงแก้ปัญหาด้วยคาลิเปอร์แบบโมโนบล็อก พอมันเป็นชิ้นเดียวทั้งอัน มันก็จะไม่ถ่างออกอีกต่อไป เหตุผลมีฉะนี้แหละครับ…

จานเบรกเซาะร่อง รูระบาย อย่าทะลึ่งทำเอง

เคยมีแฟชั่นฮิตในสมัยก่อน ในการ “เจาะรูที่จานเบรกเอง” ยุคที่ชุดเบรก SKYLINE R32 เข้ามาใหม่ๆ เห็นเจาะรูจานกันเพียบ จะรู้ไหมว่าเป็นการ “หาเรื่องเข้าตัว” เพราะการเจาะจานเบรก “ความแข็งแรงจะลดหายไป” มันไม่ได้เผื่อเนื้อมาให้เจาะ เมื่อเจาะแล้ว มีโอกาสจะ “แตกร้าว” ตรงไอ้รูที่เจาะเพิ่มนั่นแหละ เห็นมาหลายรายแล้วครับ แต่ปัจจุบันผมก็เห็น “อยู่บ้าง” ในการเจาะแบบนี้ ก็นึกเป็นห่วงว่าจะ “รอดไหม” อาจจะรอด ถ้าใช้เบรกไม่จริงจัง ใส่แค่สวยๆ แต่ถ้าลองเบรกกะทันหันที่ความเร็วสูง อันนี้ “ไม่แน่” แต่ “ผมไม่ลอง” แน่นอน แต่ส่วนใหญ่ก็จะไม่ทำกันแล้วครับ เพราะรู้ว่าอันตราย ประกอบกับตอนนี้มีจานเบรกซิ่งสวยๆ ขายในราคาไม่แพง งานไทยก็มี แฟชั่นการเจาะจานจึงหายไป ดีแล้วครับ หายไปเถอะ มันไม่ดีหรอก…

 

เซ็ตเบรกผิด ชีวิตหาไม่  

อันนี้แหละครับ ที่จะพูดถึง “ความเข้าใจของระบบเบรก” หลายคนไม่เข้าใจว่าควรจะเซ็ตไปในทิศทางใด คำว่า “ยิ่งใหญ่ยิ่งดี” มันใช้ไม่ได้ในทุกเรื่องนะครับ (เออน่า ไม่ได้คิดลึกจริงๆ) หรือว่าการเซ็ตเบรกหน้า-หลัง แบบ “ผิดสัดส่วน” มันก็จะทำให้เกิด “เหตุ” ให้ท่าน “เหงา” ได้เหมือนกัน ลองมาดูแต่ละหัวข้อครับ…

เบรกใหญ่เกิน มิดได้นะ

         ชอบกันเหลือเกิน สำหรับอะไรใหญ่ๆ โดยเฉพาะเบรก สรรหามาใหญ่ที่สุดเท่าที่มีกำลังจะซื้อและยัดเข้าไปในรถสุดรักของเราได้ ใช่ครับ ไม่เถียง เบรกใหญ่ยังไงก็ให้การหยุดที่ความเร็วสูงดีกว่าเบรกเล็ก เพราะมีแรงจับสูงกว่า แต่ถ้ามันใหญ่เกินไป จนเกินกว่า “ความฝืดของยางจะทานไหว” พูดง่ายๆ ก็คือ “เบรกดี แต่ยางไม่พอ” อาจจะยางหน้าแคบเกินไป ยางเกาะถนนไม่มากพอ จะเกิดอาการ “ล้อล็อกได้ง่าย” เบรกทีล้อล้อกเอี๊ยดดดดดด ทำให้เกิดการไถล ควบคุมรถไม่ได้ อันตรายมาเยือน เพราะฉะนั้น ถ้าคุณอยากจะใส่เบรกใหญ่ “ยางก็ต้องเกาะถนนมากตามไปด้วย” เพื่อให้เบรกแล้วล้อไม่ล็อก แต่รถสามารถหยุดได้ คือ “เกือบจะล็อก แต่ไม่ล็อก” น่ะ เป็นการเบรกที่มีประสิทธิภาพที่สุด แนะนำว่า “ใส่เบรกให้มีขนาดเหมาะสมกับรถที่เราขับ” รถใหญ่ เบรกก็ต้องใหญ่ตาม รถเล็กก็เอาขนาดย่อมๆ หน่อยแล้วกัน เดี๋ยวจะเกิดเหตุไม่ดีซะก่อน…

ผ้าเบรกเทพ ปล่อยให้รถแข่งใช้ดีกว่าไหม ???

ต่อเนื่องมาจากคนที่ใส่เบรกซิ่งเกรดสูงทั้งหลาย จะคำนึงถึง “ผ้าเบรก” กันบ้างหรือเปล่า พวกผ้าเบรกเกรดสูง มันจะมีช่วง Range การทำงานที่อุณหภูมิสูงจัดเท่านั้น ส่วนใหญ่ก็ตั้งแต่ 200-1,000 องศา เรียกว่าเบรกกันจน “จานร้อนแดงฉาน” นั่นแหละครับ รถแข่งที่ไหนจะมาค่อยๆ เบรก ซึ่งตอนผ้าเบรกเย็น มัน “เบรกไม่อยู่” นะครับ ส่วนใหญ่รถบ้านที่ใส่เบรกเกรดสูงมากก็จะเจอปัญหานี้กัน ถ้าจะใส่เบรกพวกนี้ ก็ต้องเปลี่ยนผ้าเบรกให้เหมาะสมกับการใช้งานของเราด้วย อีกประการ เบรกพวกนี้จะ “เสียงดัง” และ “แข็ง” ทำให้เกิดความรำคาญในการใช้งานทั่วไปได้ พิจารณาให้ดีก่อนที่จะใส่ แต่ส่วนใหญ่แล้วเบรกแต่งทั้งหลายที่ขายทั่วไป ก็มักจะออกแบบให้ใช้งานบนท้องถนนได้ด้วย ก็เลือกซื้อเอาอย่างนั้นแล้วกัน บางคนชอบเอา “เบรกแข่ง” มาใส่ ก็จะเจอปัญหาตามที่ว่ามา…

หม้อลมเบรก เปลี่ยนใหญ่ขึ้น เบรกดีขึ้น “จริง” หรือ “เปล่า” ???

หม้อลมเบรก หรือ Brake Booster หน้าที่ของมันก็คือ “การผ่อนแรงเบรกให้กับเท้าของเรา” ซึ่งจะอาศัย “สุญญากาศจากท่อร่วมไอดี” มาคอยควบคุมการผ่อนแรงเบรก ทำให้เราไม่ต้องใช้แรงเหยียบเบรกมาก เพิ่มความ “สบาย” ในการขับขี่ แต่ทว่า คนเรามักจะ “ฝังใจกับหม้อลมเบรกใหญ่” เพราะความเชื่อที่ว่า “หม้อลมเบรกใหญ่ จะช่วยให้เบรกดีขึ้น” ต้องแยกเป็นสองกรณีครับ ประการแรก “อาจจะใช่” เพราะเมื่อเรา “เหยียบเบรกด้วยแรงเท่าเดิม” หม้อลมจะส่งให้เบรกทำงาน “มากกว่าเดิม” เพราะมีการผ่อนแรงที่มากขึ้น เราเลยรู้สึกว่ามันเบรกได้ดี นุ่มเท้าขึ้น อารมณ์ว่า “เบรกเบาๆ ก็อยู่แล้ว” คำนี้จะได้ยินกันบ่อยๆ ถูกไหมครับ…

แต่ถ้าคิดมุมกลับ เมื่อเราเบรกเต็มที่ ในความเป็นจริงแล้ว ประสิทธิภาพของเบรกก็ยัง “เท่าเดิม” ไม่ได้มีอะไรดีขึ้น เพราะฉะนั้น “ระยะเบรกก็ไม่ได้สั้นลง” มันเหมือนเป็นการ “หลอกความรู้สึก” เสียมากกว่า และที่ “อันตราย” อีกอย่าง สำหรับคนชอบใส่หม้อลมเบรก “ใหญ่เกินเหตุ” นั่นก็คือ “คุณจะควบคุมการเบรกได้ไม่เสถียร” เพราะเหยียบไปแล้วมันเบา นุ่ม ถ้า “รถบ้าน” ใช้งานปกติอาจจะดี ไม่ใช่เบรกดีนะ แต่คุณจะรู้สึกสบายขึ้น แต่ส่วนตัวผมว่า “มันกะน้ำหนักเท้ายาก” บางคันใส่หม้อลมใหญ่ แตะเบรกนิดเดียว “หัวทิ่ม” ผมถือว่าเป็น “เบรกที่ไม่น่าคบ” นะครับ เข้าขั้น “ห่วย” ด้วย แถมยัง “อันตราย” โดยเฉพาะ “รถที่ไม่มี ABS” เหยียบเบรกแล้ว “ล้อพร้อมจะล็อก” ตลอดเวลา ล็อกเร็วผิดปกติด้วย เพราะคุณดันไปเพิ่มแรงเบรกให้มากขึ้น โดยที่คุณไม่สามารถคุมน้ำหนักเบรกได้เลย ถ้าเป็นช่วงถนนลื่นๆ ก็ไม่อยากคิดครับ แวบเดียวก็ Bye Bye ไปซะแล้ว ดังนั้น ไม่ควรใส่หม้อลมเบรกใหญ่เกินไป โดยมีความเชื่อว่ามันจะช่วยเบรกดี ใช้หม้อลมขนาดเหมาะสมก็พอแล้วครับ…

 

สรุป

บทความในครั้งนี้ ก็จะเน้นเกี่ยวกับ “ความเข้าใจในระบบเบรกขั้นพื้นฐาน” อาจจะดูเนื้อหาพื้นๆ แต่เอาเข้าจริงๆ ผมว่ามันเปลี่ยนความเข้าใจผิดของคนส่วนใหญ่ได้ เมื่อคุณต้องการจะโมดิฟายเบรกเพิ่ม ควรจะรู้พื้นฐานเสียก่อน ว่ามันคืออะไร จะสามารถโมดิฟายได้อย่างเข้าใจ อย่างน้อยก็ไม่ผิดทางจนเกิดความเสียหาย ให้รู้ว่า “ตรงไหนที่เหมาะสม” นั่นคือดีที่สุด เพราะส่วนใหญ่แล้วรถพวกเราก็ยังต้องขับใช้งานกันอยู่ จะได้มีแนวคิดไปต่อยอด เลือกการซื้อและใช้เบรกให้เหมาะสม เพื่อบังเกิดประสิทธิภาพสูงสุดครับ…