เรื่อง : อินทรภูมิ์ แสงดี / ภาพ : ธัญญนนท์ แสงภู่
“รถบ้านยางบาง” เสน่ห์ที่ย้อนกลับมาแรงอีกครั้ง
เจาะลึกความหมาย โมดิฟายอะไรถึงแรง
จัดจบโดย “ZARD AOM Driver & Service”
ปฏิเสธไม่ได้เลย ว่ากระแสของ “รถบ้านยางบาง” นั้น เพิ่มทวีความรุนแรงแบบไม่น่าเชื่อจริงๆ อาจจะเป็นเพราะยังบังคับความเป็น “ลุครถบ้าน” อยู่ ทำให้ถูกควบคุมด้วยกติกา ต้นทุนจึงไม่ได้สูงมากเหมือนระดับ PRO ทั้งหลาย ที่มันไม่มีความเป็นรถบ้านอยู่อีกต่อไป นิยมมากจนกระทั่งรายการของเรา SOUPED UP THAILAND RECORDS 2019 ต้องเพิ่มและบรรจุรุ่นนี้ไว้ในปฏิทินการแข่งขัน โดยใช้ชื่อรุ่นว่า LENSO STREET TRUCK RADIAL by FLEX TURBO ออกทางสากล คำว่า STREET TRUCK ก็คือ “รถกระบะวิ่งถนน” นั่นเอง เป็นการแข่งแบบ Battle สไตล์ที่นักแข่งคุ้นเคย อะไรที่ทำให้ “รถบ้านยางบาง” ได้รับความนิยม ที่มาที่ไป ที่สำคัญ “ทำอย่างไรถึงจะแรง” และ “ใช้งบประมาณเท่าไร” เรามาเจาะลึกกัน โดยทางอู่ “ZARD AOM Driver & Service” ที่มีดีกรีจาก SOUPED UP จะมาแถลงไขให้เรารับทราบกันครับ…
- “สาดอ๋อม” พิสิทธิ์อนันต์ ตันจตุรงค์ นักแข่งที่ขยับฝีมือมาขับในระดับ SUPER DRAGSTER ที่ลงลึกกับรถบ้านยางบาง เพราะยังไงชีวิตนักแข่งสายดีเซล ก็ต้องเริ่มจากรุ่นนี้
เกิด คงอยู่ หายไป กลับมา
ดูแล้วมันก็เป็น “วัฏจักร” แห่งชีวิตจริงๆ นะครับ ย้อนไปประมาณ 6-7 ปีที่แล้ว ในช่วงที่ “กระบะคอมมอนเรลเริ่มบูม” ก็จะเริ่มต้นด้วยรถถนนนี่ใช้งานกันทั่วๆ ไป ตอนนั้นก็ “กล่องยก – ดัน” และ “เทอร์โบ ISUZU 3000” เป็นสูตรสำเร็จของรถวิ่งถนน ซิ่งบ้างบางอารมณ์ พอไปซิ่งบนถนนก็ไม่ใช่เรื่องที่ถูกต้อง ก็เลยมีการจัดแข่งขันขึ้น ก็คือ “รถบ้านยางบาง” เพราะรถกระบะก็มักจะแต่งกันทรงนี้อยู่แล้ว โหลดเตี้ย ยางบาง ถ้าล้อ 17 นิ้ว ก็ซีรีส์ 40 ถ้าสุดๆ ล้อ 18 นิ้ว ก็ซีรีส์ 35 ประมาณนี้ แล้วแต่คนชอบ ส่วนใหญ่ก็บังคับที่ซีรีส์ยางต้องไม่เกิน 45 เลยเป็นที่มาของชื่อรุ่นนี้…
ในยุคแรกๆ เท่าที่พอจำได้ จะเกิดจากสนามฝั่ง “นาเกลือ” ก่อน เพราะชานเมืองคนใช้รถกระบะเยอะ เรียกว่าเป็น “จุดตัดสายสะดือ” อู่ดีเซลดังๆ ในสมัยนี้กันเลยละครับ ช่วงนั้นรถบ้านพวกนี้ก็จะเป็นกลุ่มพวก “Car club” หรือ “Club race” อะไรก็ว่ากันไป ที่เอารถที่ใช้งานทั่วไปมาแต่งกันนิดๆ หน่อยๆ แล้วก็มาแข่งกันในสนาม ส่วนใหญ่ก็ Battle กัน มีตั้งแต่ Bracket ที่ใครๆ ก็ลงแข่งได้ รถแรงมากก็ไม่สน ขอ “แม่นเวลา” เป็นหลัก แต่ถ้าพวก “สายโหด” ก็ต้อง “โบใหญ่ เกียร์บ้าน” ยาง Drag Slick ที่ยังเป็น Stock body & Stock chassis คงจำกันได้ หลังจากนั้นก็กำเนิด “โบใหญ่ เกียร์ซิ่ง” หรือ PRO TRUCK ใน Souped up แต่นั่นมันคือ “รถแข่ง” ไปแล้ว…
ย้อนกลับมา พวกรถบ้านยางบาง ตอนนั้นก็เริ่มมีการเปิดรุ่นแข่งขันกัน กติกาก็คือ รถบ้านจริงๆ เช่น มีแอร์ ใช้งานได้ปกติ อุปกรณ์ในรถต้องครบ มีพรม เบาะหน้าคู่ มีวิทยุ ฯลฯ พูดง่ายๆ ห้ามล้อหน้าเดฟ ยางหลังต้องเป็น Radial ทั่วไป กำหนด Tread wear ต้อง 2XX ขึ้นไป ห้ามยางซอฟต์ ฯลฯ ก็แล้วแต่ผู้จัดจะกำหนด แต่ภาพรวมก็ประมาณนี้ ส่วนเครื่องยนต์ ตอนนั้นก็ไม่ค่อยมีของโมดิฟายสักเท่าไร หลักๆ ก็ขยายความจุ ใส่ข้อเหวี่ยง 3,000 ซีซี. ลูกสูบโอเวอร์ไซซ์ 0.75 มม. หรือ “ลูกเจ็ดห้า” ฝาก็เดิม แคมก็ยังไม่มี สปริงวาล์วก็เอาของ “มอ’ไซค์” มาซ้อนกัน ก็ทำกันตามที่มี เป็นสูตร “ชาวบ้าน” กันจริงๆ ยุคนั้นวิ่งกัน “12 ต้น” ก็โคตรหล่อแล้ว…
ถ้าถามถึงความนิยมในยุคนั้น ก็ถือว่า “ใช้ได้” มีกลุ่มเล่นกันเยอะ แต่คนดูอาจจะไม่ค่อยอินมาก เพราะส่วนมากจ้องแต่จะดู “รุ่นใหญ่” พวก โบใหญ่ เกียร์บ้าน ที่สมัยนั้นฮิตกันมากๆ เพราะรถเฟรมดีเซลยังไม่มี ถ้าเป็นฝั่ง “นาเกลือ” ที่มาแรงก็ “เบิร์ด หลักห้า” ที่หากินอยู่ เพราะ “สนามใกล้บ้าน” แล้วก็มีกลุ่ม หมูหยอง + เอ้ แม่กลอง (เอ้ ยางเปอร์เซ็นต์ เดิม) + สาดอ๋อม (น้องชายเอ้ แม่กลอง) ถ้าดังๆ หน่อย ก็ “บอยฟิล์ม” เจ้าของ MRX ณ บัดนี้ และเจ้าดังอื่นๆ อีกเยอะ…
หลังจากนั้น กระแสรถบ้านยางบางก็เงียบๆ ไป เพราะคนที่เล่นรถพวกนี้ พอเริ่ม “ลึก” ก็ขยับขึ้นไปแข่งรุ่นใหญ่ ประมาณว่า “อยู่เฉยๆ ไม่มีที่ยืน” ก็กลายเป็นรถรุ่นใหญ่กันหมด รุ่นเล็กคนก็ไม่ค่อยสนใจดู ยกเว้นแต่จะมาเชียร์พวก เอาจริงๆ มันก็ไม่หายไปนะ รายการแข่งทั่วไปก็ยังเปิดแข่งรุ่นนี้อยู่ แต่มันเป็น “เฉพาะกลุ่ม” มันเงียบๆ ไปช่วงหนึ่ง ก่อนจะกลับมาเล่นกันใหม่ช่วง 2 ปีที่แล้ว เพราะลูกค้ามีเยอะกว่ารุ่นใหญ่ มันก็วนกลับไปเรื่องเดิม และยิ่งช่วงเศรษฐกิจขาขึ้น (Teen ก่ายหน้าผาก) แบบนี้ คนก็ไม่ลงทุนเยอะ รุ่นใหญ่ๆ ตั้งแต่ PRO TRUCK – SUPER MAX – SUPER DRAGSTER ที่ต้องจ่ายเยอะเป็น “หลักล้าน” แค่รถไม่พอ ยังมีการ “เซอร์วิส” ที่จ่ายเยอะเช่นกัน ก็เลยหันมาเล่นกับรถบ้านยางบาง ที่ใช้งบประมาณไม่สูงนัก…
- รถบ้านยางบาง ณ ตอนนี้ กระแสมาแรงมาก ไม่ต้องลงทุนสูงมากนัก มีรถก็สามารถทำได้เลย ทำแล้วก็ขับใช้งานได้ปกติ เพราะกติกาห้าม ตัด ดัดแปลงใดๆ ที่ตัวรถทั้งสิ้น
- การแข่งรุ่น LENSO STREET TRUCK RADIAL by FLEX TURBO ครั้งแรกใน Souped up 2019 ได้กระแสการตอบรับที่ดีพอสมควร เนื่องจากทีมแข่งยังกังวลเรื่อง “กติกา” โดยเฉพาะในด้าน Safety ที่เน้นมาตรฐานสูง เพื่อความปลอดภัยของทุกฝ่าย ส่วนการแข่งจะเป็นแบบ Battle ไม่ได้เป็น Records บันทึกสถิติเวลา
เสน่ห์ของ “รถบ้านยางบาง”
อะไรคือเสน่ห์ของมัน ก็ดูเหมือนเอารถกระบะหน้าตาบ้านๆ เห็นได้ทั่วไปมาแข่งกัน แต่ในความบ้าน มันก็มี “ฝีมือ” ซ่อนอยู่ ไม่ใช่ว่าทำอะไรก็ได้ แล้วจะแรง หรือทำแรงๆ แล้วมันจะ “เร็ว” ได้นะครับ…
- ไม่ต้องเสียรถ : รถที่นำมาทำแข่ง จริงๆ มันก็คือ “รถวิ่งถนน” นั่นแหละครับ ด้วยกติกาบังคับ มีน้ำหนักกำหนดถึง “ตันหก” หรือ “ตันเจ็ด” กระบะหลังต้องเดิม ห้ามตัด ฯลฯ ทำให้ไม่ต้อง “ระเบิดรถทิ้ง” มีรถอยู่แล้ว ก็มาทำวิ่งได้เลย จะทำเล่นเลยก็ซื้อมือสองมา ถ้ารุ่นปีเก่าหน่อยก็ไม่แพงแล้ว ถ้าเบื่อจะเลิก ก็สามารถขายต่อได้ทันที เพราะ “รถมันขับใช้งานได้จริง” หรือไม่ก็ทำกลับเดิมๆ ได้เลย…
- ต้นทุนไม่แพง : ไม่แพง เมื่อเทียบกับสมรรถนะนะครับ ไอ้จะหวังราคาถูกๆ แต่จะเอาเวลาเร็วๆ ฝันไปเถอะครับ พวกนี้งบประมาณจะใกล้ๆ กัน เพราะส่วนใหญ่ก็ทำสเต็ปพอๆ กัน แรงม้าก็ใกล้ๆ กัน กติกาจะกำหนดมากกว่ารุ่น PRO เลยไม่ต้อง “เลยเถิด” ไปไกล ทำให้สามารถคุมงบประมาณได้ง่ายกว่า อีกอย่างรถพวกนี้ “ไม่ค่อยพังหนัก” (ไอ้พังมันก็เรื่องปกติ แต่ไม่ใช่พัง Run ละเครื่อง) โดยมากจะเป็นพวกระบบส่งกำลั มากกว่า เลย “กระเป๋าไม่แหก” กันสักเท่าไร…
- แรงมากกว่า แต่ไม่จำเป็นต้องชนะ : อันนี้จริง เพราะทุกสิ่งอย่างถูกกำหนดที่ “ยาง” ใน Souped up บังคับยางเหมือนกันหมด แรงมากไปก็ “ฟรีทิ้ง” คุมรถยาก อารมณ์มันจะคล้ายๆ รุ่น SUPER หรือ PRO 275 ในเบนซิน ที่ทุกอย่างต้อง “ลงตัว” แรงพอดีๆ ใช้ม้าลงพื้นหมด อันนั้นแหละสุดยอด…
- วัดกันที่ “คนขับ” : จริงๆ แล้ว คนขับก็มีส่วนในการแพ้–ชนะ เหมือนกันทุกรุ่น เพียงแต่รถยางเรเดียลพวกนี้ คนขับจะต้อง “มีทักษะ” ในการคุมคันเร่ง โดยเฉพาะตอน “ออกตัว” นี่สำคัญมากๆ (เดี๋ยวค่อยมาว่ากันในส่วนเทคนิค) ไม่ใช่ว่าสักแต่ “ปล่อยโดด” แล้วมันจะได้เวลา การเปลี่ยนเกียร์ ความ Smooth ทุกอย่าง ยิ่งเนียนยิ่งได้เปรียบ ดูแล้วมันไม่ได้ง่ายอย่างที่คิด…
- เวลาจะไล่บี้กันมาก : อย่างที่รู้กันว่า “ส่วนใหญ่จะทำสเต็ปพอๆ กัน” มีการกำหนดกติกาที่ชัดเจน ไม่เปิดให้ทำอะไร “สูตรพิสดาร” แต่ละอู่ก็จะทำรถมาเร็วพอๆ กัน ได้เสียกันที่ “เสี้ยววินาที” ทั้งสิ้น ทำให้มีลุ้นกันแบบ “คาดเดาไม่ได้” ก็เป็นความสนุกอีกอย่างที่พร้อมจะเขี่ยกันได้ตลอดเวลา ส่วนพิกัดเวลามาตรฐานที่ระดับหัวๆ วิ่งกัน ก็ต้อง “สิบ” กันแล้ว ไม่ธรรมดานะครับ สำหรับรถน้ำหนักขนาดนี้…
Special Tips
- นิสัยคนขับ : อันนี้แหละที่ “ไม่สามารถใช้เครื่องมือใดๆ ในโลกจูนได้” เพราะคนแต่ละคนย่อมไม่เหมือนกัน เต็มที่ก็แค่ “คล้าย” แต่มีเงื่อนไขหลายอย่าง เช่น ประสบการณ์ ความนิ่ง ประสาทสัมผัส ความแข็งแรงของร่างกาย สภาพร่างกายและจิตใจในขณะนั้น เหล่านี้ทำให้คนไม่เหมือนกัน แต่ให้คนเดียวกันก็ตาม ถ้าวันไหนอดนอน ร่างกายไม่เต็มร้อย การขับก็ด้อยลงไปเช่นกัน และ “นิสัยการขับ” ก็อีกอย่าง การปล่อยคลัตช์ คนที่มีประสบการณ์เยอะๆ ก็จะสามารถ “กำหนดระยะการปล่อย” แบบนุ่มนวลต่อเนื่องได้ ค่อยๆ เลี้ยงหน่อย แล้วไป ทำให้ออกไม่กระชากจนเสียอาการ หรือระบบส่งกำลัง Shift หาย แต่คนที่ประสบการณ์น้อย ก็อาจจะคุมได้ไม่ละเอียดเท่า คนทำรถก็ต้อง “ปรับเข้าหาสไตล์ของคนขับ” นั่นก็ส่วนหนึ่ง แต่คนขับก็ต้อง “ปรับเข้าหาตัวรถด้วย” คือ มึงจะเอาแต่ใจตัวเองไม่ได้ ไม่มีรถที่ไหนในโลกทำตามคนขับได้เต็มร้อย ถ้าคนกับรถจูนเข้าหากันได้ นั่นแหละ “เร็ว” ไอ้ของพวกนี้มันต้อง “ฝึกอย่างเดียว” ครับ…
- ตั้งคลัตช์ตามสไตล์คนขับ : อย่างที่บอกไปตะกี้ ถ้าคนขับ “Teen นิ่ง” ควบคุมได้ สติและสมาธิดี ประสบการณ์สูง สามารถปล่อยคลัตช์ได้ระยะเป๊ะๆ ก็สามารถตั้ง “ระยะเดินคลัตช์สั้น” ได้ ประเภทยกปลายเท้าก็ “จับปึ้ง โดดดึ๋ง” ไปได้เลย อย่างแทร็กที่เหนียวๆ ก็สามารถทำได้เลย แต่ถ้าคนขับมือใหม่หน่อย ยังกะระยะไม่แม่นนัก หรือแทร็กไม่เหนียวพอ ก็ต้องตั้ง “ระยะเดินคลัตช์ยาวขึ้น” เพื่อให้มีระยะ “เลีย” (คลัตช์) ให้เกิดความนุ่มนวลมากขึ้น เหมือน “คลัตช์สลิป” ทำให้ลดอาการฟรีทิ้ง แต่เราต้องกำหนดที่ “ขา” เราเองนี่แหละ อันนี้ก็ต้องขับไปปรับไป ทั้งคนและรถครับ ไม่มีสูตรสำเร็จใดๆ ทั้งสิ้น…
- เกียร์ ต้องมีลีลากันหน่อย : โดยมากตอนนี้ก็นิยมเกียร์ ISUZU VGS กัน ราคาก็เริ่มลงมาหน่อย ถ้าเป็นยุคแรกเริ่ม ก็ต้องเอาของเครื่องเบนซินมาใช้ ที่นิยมๆ มาแปลงก็ RB25DET นี่โคตรฮิตจริงๆ หรือไม่ก็ VG30DETT จาก Z32 ที่เป็น “ด้ามเกียร์โยง” พอมาใส่กระบะก็มี “ชุด Adaptor แปลงด้ามเกียร์ D-MAX” ให้กลับมาขึ้นที่จุดเดิมของตัวรถได้เลย ก็ยังมีบางคนที่เล่นอยู่ สำหรับเกียร์ VGS ได้มาก็ต้อง “สร้างอัตราทดใหม่” กัดเฟืองใหม่ขึ้นมาตามต้องการ บ้านเราทำได้เยอะแยะหลายเจ้า อีกเรื่อง คือ “ด้ามเกียร์” ปกติกระบะมันจะยาว ระยะเข้าเกียร์จะห่าง แต่ได้เรื่อง “น้ำหนักเบา” แต่ถ้าเป็นพวก “ด้ามควิก” ของแต่งตัวซิ่งเบนซิน พวกนี้ “สั้น” ก็จริง แต่ “มีน้ำหนัก” เพิ่ม บางทีเปลี่ยนเกียร์เร็วๆ กลายเป็น “พลาด” จาก 2 ไปเข้า 5 เลย ก็มี ทางแก้ก็คือ เอาด้ามเดิม แต่โมดิฟายพวกตุ้มเตะด้านล่างใหม่ ให้ “กระชับ” และ “แม่นยำ” ขึ้น ควรจะทำ เพราะด้ามเกียร์แต่ละลูก จะมีระยะห่างที่ไม่เท่ากัน เป็นเรื่องปกติของการผลิตจำนวนมากๆ แบบ Mass product ครับ…
- Power band สำคัญกว่าตัวเลขแรงม้า : ผมกับ “อ๋อม” เข้าใจตรงกันอย่างหนึ่ง ในเรื่องของการทำเครื่องโดยเน้น “ช่วงกำลังกว้าง” โดยการดูจากกราฟบน “ไดโน” เป็นหลัก จะเน้นไปในทาง “แรงบิดมายาวต่อเนื่อง” หรือ Flat torque เพราะมีผลโดยตรงกับอัตราเร่ง ดีเซลมีจุดเด่นตรงนี้ ถ้าทำเครื่องมีแรงเฉพาะในรอบสูง รอบต่ำก็เหี่ยว ออกตัวยาก เผลอๆ ก็ไม่เร็วเพราะดีเซลรอบมันไม่เยอะ ยิ่งถ้าเป็นรถหนักๆ แบบนี้ ไนตรัสก็ห้ามใช้ เกียร์ก็ยังต้อง “บ้าน” อยู่ ยิ่งต้องใช้ช่วงกำลังกว้างไว้ก่อน พอดูกราฟแล้ว ก็จะรู้ช่วงกำลังที่ดีที่สุดว่าอยู่ตรงไหน ก็จะสามารถกำหนดรอบ “ออกตัว” อันนี้สำคัญมาก ต่อมาก็ “เปลี่ยนเกียร์” อย่าง อ๋อม มีประสบการณ์เยอะ ก็จะอาศัย “ไล่รอบฟังเสียง” เอา หลายคนมักจะลากไปถึงรอบสูงสุดที่กำหนดไว้ แล้วค่อยคิดจะเปลี่ยนเกียร์ แบบนี้ “ไม่ทัน” เพราะรอบจะตัด ทำให้เสียเวลามากขึ้น โดยเฉพาะเกียร์ 2 (ที่มักจะใช้ออกตัว) รอบจะขึ้นเร็ว ต้องกะให้แม่นๆ เปลี่ยนเกียร์ให้พอดี ก็ต้องดู “หน้างาน” เช่น แทร็กเหนียว หรือลื่น รอบก็จะกวาดช้าและเร็วตามสถานการณ์ “คนขับ” ก็ต้องปรับตัวให้ได้ครับ…
- เทอร์โบ : ตอนนี้ที่ใช้ก็ “มิติ ISUZU 3000” ตามกติกากำหนด ส่วน “ยอดใบ” ก็มีตั้งแต่ 50-52 มม. ใหญ่กว่า F55 สแตนดาร์ดแล้วตอนนี้ เคยเจอใหญ่สุด 54 มม. มันแรงและเร็วจริงครับ แต่ “ไม่ค่อยทน” เพราะใบใหญ่ แต่ “แกนเล็ก” มันมีข้อจำกัดที่เสื้อกลาง กับเข็มขัดรัด จึงเหมาะกับรถแข่งที่ต้องการกำลังพีคในช่วงสั้นๆ มากกว่า…
- ทำเกียร์ให้สัมพันธ์กับ Power band : มันเป็นผลต่อเนื่องครับ รุ่นนี้ก็จะใช้ “เกียร์บ้าน” อยู่ แต่มีการเรียงอัตราทดใหม่ตามแต่สูตรของแต่ละอู่ การทำอัตราทดเกียร์ใหม่ ก็จะต้องสัมพันธ์กับ Power band เปลี่ยนเกียร์รอบเท่านี้ แต่ละเกียร์รอบตกมาอยู่เท่าไร จะให้ดีต้องตกมาอยู่ใน Power band มันจะไปได้อย่างต่อเนื่อง แต่ถ้า Power band แคบ หลุดออกมาก็รอรอบ ก็เป็นคำตอบว่าทำไมต้องทำเครื่องให้มี Flat torque แรงบิดมากว้างๆ ไว้ก่อน จะได้เปรียบ ถ้าอยากรู้ว่าอัตราทดที่เราใส่ไป มันได้ผลอย่างไร ลองหาในเน็ต พิมพ์ Gear Calculator ดูครับ จะเป็นโปรแกรมสำเร็จ เราแค่กรอกข้อมูล อัตราทดเกียร์ เฟืองท้าย รอบเครื่องสูงสุดที่เราเปลี่ยนเกียร์ ขนาดล้อ ระบบก็จะคำนวณเป็นกราฟออกมา ว่ารอบตกมาอยู่ที่เท่าไร ได้ความเร็วเท่าไร ที่รอบเท่าไร สะดวกมากครับ ลองดู…
- ช่วงล่าง A-arm คืออะไร : โดยปกติช่วงล่างหลังแบบแหนบ จะไม่มี Links อะไรทั้งสิ้น ทำให้เวลาออกตัวแรงๆ “แหนบกระพือ ล้อเต้น” สับตับๆๆๆๆๆๆ ท้ายก็เต้นเป็นเจ้าเข้า แถมยังจะพาเข้าเสาไฟฟ้า แถม “พังบรรลัย” หมด ตั้งแต่ ยอยต์ เพลากลาง เฟืองท้าย ฯลฯ ก็เลยต้องมี Links ค้ำเอาไว้เพื่อลดอาการดื้อด้าน แต่ก็ “ยังไม่พอ” ตอนหลังก็เริ่มเอา “Ladder bars” ทรงสามเหลี่ยม แต่บ้านเราเรียก “A-arm” ด้านหน้า 1 จุด ยึดกับคานใต้แชสซีที่สร้างขึ้นมาใหม่ ส่วนด้านหลัง 2 จุด ยึดกับเพลาท้าย จุดด้านล่างสามารถ “ปรับระยะ” ได้ เป็น Traction bar ว่าให้ “มุมกด” ออกมาในลักษณะไหน อันนี้บอกเป็นตัวอักษรได้ยาก มันต้องมีการแสดงการเคลื่อนไหว (Simulate) ให้ดู จะเข้าใจง่าย ส่วนใหญ่เวลาตั้งเบื้องต้น ก็จะยกรถขึ้น ปล่อยวางบนถัง 200 ลิตร 4 ล้อ โดยที่ขาลิฟต์ยกรถยัง “แตะ” ตัวรถไว้อยู่นะ ห้ามปล่อยฟรีเดี๋ยว “เคล้ง” ลงมามันจะฮาก๊าก แล้วดูระยะ “ยุบ” ด้านหลังว่าต้องการเท่าไร แล้วก็ไปวิ่งปรับกันอีกที การใส่ A-arm ในนี้จะเป็นแบบ “เดี่ยว” ติดตั้งด้านขวา ไม่ต้องย้ายจุดยึดถังน้ำมันที่อยู่ด้านซ้าย แต่มีกระแสใส่ A-arm แบบ “คู่” อันนี้ต้องย้ายถังน้ำมัน แต่คันที่แข่งนี้ก็ใช้เดี่ยว เพราะลองใส่คู่ ผลที่ได้แทบไม่ต่างกัน อันนี้เป็นความรู้สึกของ “สาดอ๋อม” นะครับ…
- ในยุคก่อนก็จะใช้เกียร์เครื่องเบนซิน ฮิตๆ ก็ RB25DET เพราะเกียร์เบนซิน อัตราทดจะต่ำและต่อเนื่องกว่าเกียร์ดีเซลยุคเก่า ที่เน้น “แรงฉุด” แต่ “ไม่เร็ว” ไม่เหมาะกับการแข่งขัน ไม่ทนต่อรอบสูงๆ แรงม้ามากๆ จะโมดิฟายก็ไม่มีชุดเฟืองให้เล่นอีก เพราะตอนนั้นเทคโนโลยีในการสร้างเฟืองเกียร์ยังไม่เจ๋งเหมือนตอนนี้ เลยต้องเอาเกียร์ของเครื่องเบนซินแรงม้าสูงๆ มาใช้ แต่ตอนนี้เกียร์ของกระบะก็พัฒนาขึ้นไปมาก อย่างเกียร์ ISUZU VGS ที่มีขนาดใหญ่มาก แข็งแรง และยังสามารถสร้างเฟืองเกียร์ตามอัตราทดที่ต้องการได้ ตอนนี้ทำกันได้เป็นเรื่องปกติแล้ว
- ช่วงล่างหลังรุ่น 1,600 กก. เพิ่ม A-arm ได้ แต่รุ่น 1,700 กก. ห้ามใส่ อื่นๆ เหมือนกัน แหนบต้องมี ใช้ได้ปกติ จุดยึดครบ แต่โมดิฟายแหนบได้ ถังน้ำมันเปลี่ยนได้ แต่ต้องยึดจุดเดิม หรือ ยึดใต้กระบะเท่านั้น แต่ส่วนมากไม่ย้ายกัน เพราะต้องการ “ถ่วงซ้าย” เพราะคนขับนั่งขวา
- หน้าตาของ A-arm แต่ภาษาสากลเรียก Ladder bar ที่สามารถปรับระยะ เพื่อเปลี่ยน “มุมการงัด” ซึ่งจะมีผลต่อการ “กด” ให้ “เกาะ” ได้
- ด้านบนก็จะเรียก Sway bar แท่งกลางเป็น “สปริงบิด” หรือ Torsion bar ที่คุ้นเคยกันนี่แหละ แล้วก็มี Joint ต่อมายึดที่เพลา มันก็คือ “เหล็กกันโคลง” อีกรูปแบบหนึ่งนี่เอง เวลารถเกิดการยุบตัวที่ไม่เท่ากัน ซึ่งเป็นปกติของรถ Drag เวลาออกตัวแรงๆ รถเอียง เพลาเปลี่ยนมุม ตัว Sway bar จะพยายาม “รั้ง” รักษาสมดุลของตัวรถไว้ เพื่อให้น้ำหนักกดที่ล้อทั้ง 2 สมดุลที่สุด แต่ก็ขึ้นอยู่กับการ Balance รถด้วย
- ตุ๊กตาเพลากลาง ต้อง “รองหนุน” ให้มันเลื่อนสูงขึ้น เนื่องจากตัวรถเตี้ยลง งงมั้ย เวลารถเตี้ยลง เครื่องกับเกียร์เตี้ยลงตามรถ แต่หน้าแปลนเฟืองท้ายยังอยู่ที่เดิม เพราะคานแข็ง เพลามันไม่ได้เปลี่ยนระยะไปตามตัวรถ ทำให้ “เพลางัด” ช่วงปลายที่จะเข้าหน้าแปลนเฟืองท้ายกระดกขึ้น เกิดปัญหาแน่ๆ เลยต้องหนุนตุ๊กตาเพลากลางให้ “ได้ระดับ” ระนาบที่สุดถึงจะดี และต้องเป็น “เพลาสองตอน” สามารถให้ตัวได้มากขึ้นกว่าตอนเดียว…
การแบ่งรุ่น
ถ้าใน Souped up เราก็จะมีเพียงรุ่นเดียว เพราะเราต้องการ “รถบ้านยางบางที่เร็วที่สุด” (จากการ Battle) แต่ถ้าแข่งขันทั่วไป ก็จะแบ่งแยกออกเป็น 2 รุ่น คือ 1,700 กก. กับ 1,600 กก. ซึ่งจะแบ่งแยกกันด้วย “น้ำหนัก” และ “กติกาของตัวรถ” ที่ต่างกันพอสมควร ดังนี้ครับ…
รุ่น 1,700 กก.
มาเริ่มกันที่รุ่น “ตันเจ็ด” ก็คือ บังคับน้ำหนักต่ำสุด 1,700 กก. จะบอดี้ไหนก็มา หัวเดี่ยว หัวแค็บ หัว… สี่ตู จุดประสงค์ของรุ่นนี้ คือ “รถบ้านจริงๆ” ที่มีกันอยู่ก็มาแข่งกันได้เลย เพราะตอนนี้รุ่น “ตันหก” ชักจะไปไกลกันแล้ว ก็เอารุ่นนี้มาเพื่อให้คนทั่วไปเป็น “จุดเริ่มต้นในการแข่ง” กันได้ครับ สำหรับกติกา ผมจะบอกแค่ “จุดแตกต่างโดยหลัก” ของ 2 รุ่นนี้ ซึ่งกติการายละเอียดอื่นๆ อันนี้ขึ้นอยู่กับ “ผู้จัด” แต่ละรายการนะครับ…
- ภายนอก : ก็ยังยืนยันความ “เดิม” ชิ้นส่วนตัวถังเดิมทั้งหมด ให้แค่ “ฝากระโปรงหน้าคาร์บอน” เท่านั้น กระบะหลังห้ามเจาะหรือดัดแปลงใดๆ ไม่ให้เอาอุปกรณ์ใดๆ มาติดตั้งทั้งสิ้น จะถ่วงก็ต้อง “ด้านใต้” เท่านั้น…
- ภายใน : อุปกรณ์เดิมโรงงานครบ กระจกเดิม ระบบการขึ้น–ลง ต้องใช้ได้ปกติ แผงประตูเดิม พื้นห้องโดยสารเดิม…
- เครื่องยนต์ : ก็เป็นสูตรสำเร็จทั่วไป ทำสเต็ปเดียวกับพวก PRO TURBO 3000 กติกากำหนดให้ใช้ “เทอร์โบ รูปทรง ISUZU 3000” เข็มขัด 73 มม. โข่งหลังทรงเดิม เน้นคำว่า “ทรง” นะครับ โดยหลักประมาณนี้ ไนตรัส ห้ามแน่ๆ ส่วนอื่นๆ ปลีกย่อยก็แล้วแต่ผู้จัด…
- เกียร์ : บังคับแบบ H-pattern ต้องมี Synchromesh นะจ๊ะ…
- ช่วงล่างหลัง : ให้ “เดิม” เป็นหลัก ด้านหลังแหนบแบบเดิม จุดยึดแหนบเดิม ห้ามใส่ “คอยล์สปริง” ห้ามใส่ A-arm, Ladder Bar, ค้ำกระ Pok อะไรทั้งสิ้น โช้คอัพแต่งได้ แต่ให้ยึดในตำแหน่งเดิม ห้ามเพิ่มจำนวน ถังน้ำมันเปลี่ยนได้ แต่ต้องยึดจุดเดิม…
- คันนี้เป็นหัวเดี่ยว แข่งรุ่น 1,700 กก. บอดี้เดิมหมด เปลี่ยนได้แค่ฝากระโปรงหน้า ผมว่าดีนะ รถบ้านเรียบๆ แรงๆ มันดูมีเสน่ห์ว่ะ
- ข้อดีอีกอย่าง รถพวกนี้แข่งได้ และใช้งานได้จริง เลยเป็นกระแสฮิต
- ล้อหน้าต้องเป็นแบบปกติ มีขนาด 17 นิ้ว ขึ้นไป “ห้ามล้อเดฟ 17 นิ้ว”
- ยางหลัง Souped up บังคับใช้ RAIDEN HERO DRAG ขนาด 275/40R18 นี่แหละ “ยางบาง” ที่เรียกกัน
- กระบะท้ายต้องเดิมสนิท ห้ามเจาะ ห้ามติดตั้งหม้อน้ำ ถังน้ำมัน ใดๆ ทั้งสิ้น
- ขุมพลัง สเต็ปเดียวกับ PRO TURBO 3000
- เทอร์โบ “ทรงอีซุสามพัน” แต่โมดิฟายไส้ในกันเต็มพิกัด
- ระบบแอร์ต้องทำงานได้ปกติ คือ “ต้องเย็น” แค่นี้จบนะ ไม่ต้องถามว่าไอ้นั่นไอ้นี่ต้องมีมั้ย
- ตัวเดียวจบปิ๊ง
รุ่น 1,600 กก.
อันนี้เป็น “สุดยอด” ของรถบ้านยางบาง ที่จะออกแนว Advance เพราะการแข่งขันสูง พูดกันตรงๆ ก็วิญญาณ PRO TURBO 3000 ในคราบรถบ้านนั่นแหละครับ สำหรับรุ่นนี้ เราก็ขออ้างอิงตามรุ่น LENSO STREET TRUCK RADIAL by FLEX TURBO ของรายการ Souped Up ที่ผ่านมา…
- ภายนอก : คงเดิมส่วนใหญ่ แต่ให้เปลี่ยน ประตู กระจก เป็นวัสดุทดแทนได้ จะประตู “คาร์บอน” ก็ไม่ว่ากัน แต่ขอให้มันดูทรงเดิมหน่อย ฝากระโปรงเปลี่ยนได้ ที่เหลือต้องเดิม เน้นย้ำ “กระบะเดิม ห้ามดัดแปลง” จะ ผ่า ตัด เล่นท่ายากไม่ได้ ซึ่งมันก็มีเหตุผลต่อเนื่องถึง “ช่วงล่าง” เดี๋ยวค่อยมาเหลากัน อันนี้เป็นข้อบังคับของรถบ้านยางบาง ทุกรุ่น!!! เพื่อยืนยันความเป็นรถบ้านจริงๆ…
- ภายใน : ก็เหมือนกัน เบาะหน้าต้องมี 1 คู่ เข็มขัดนิรภัยของเดิม และ “ต้องใช้ได้” คือ “กระตุกแล้วล็อก” โรลบาร์ไม่บังคับ แต่ถ้าใครมี มันก็ดีต่อชีวิตคุณเอง แล้วแต่คุณเลือกครับ…
- เครื่องยนต์ : ดีเซล คอมมอนเรล 4 สูบ อย่างเดียวโลด เทอร์โบ “รูปทรงและมิติ ISUZU 3000” บังคับฝาหน้า และโข่งหลัง FLEX หรือ ISUZU 3000 แท้ ถังน้ำมันย้ายได้ แต่ต้องอยู่บริเวณใต้กระบะ ห้ามสะแหลนโผล่มาโชว์หน้าตาด้านบน…
- เกียร์ : เป็นแบบ H-pattern ต้องมี Synchromesh จะเกียร์เบนซิน RB25, VG30 หรือเกียร์ดีเซล ISUZU VGS ไปใส่ไส้ใน OS เรียงอัตราทดใหม่ตามสะดวก…
- ช่วงล่างหลัง : เรา “ไม่บังคับ A-arm” หมายความว่า ไม่ได้บังคับ จะ “เดี่ยว” จะ “คู่” จะกี่อันก็แล้วแต่ศรัทธา ใส่ “Sway bar” ก็จะทำหน้าที่คล้ายๆ “เหล็กกันโคลง” ได้ และ “ห้ามใส่คอยล์สปริง” การรับน้ำหนักก็ต้องเป็น “แหนบ” และ “โช้คอัพ” อย่างละคู่เท่านั้น ในตอนแรกก็จะมีกระแสใส่ช่วงล่าง 4-links และ “เลื่อนจุดยึดโช้คอัพ” เพิ่ม Stroke ตอนยุบได้หรือไม่ แต่จริงๆ แล้ว “ไม่ได้” เพราะบังคับด้วย “พื้นกระบะเดิม” ถ้าทำแบบที่ว่า จะต้อง “เจาะกระบะ” ซึ่งผิดกติกาแน่นอน…
งบประมาณ
ถ้าเป็น “ZARD AOM Driver & Service” ก็ตีงบประมาณตั้งต้นไว้ “400,000 บาท” ใน “ค่าทำแบบ “เหมา” ลูกค้าเอารถเข้ามา ทางอู่จัดการทำ เครื่อง มี ลูก – ก้าน MRX ข้อ 3,000 ซี.ซี. ระบบส่งกำลัง ช่วงล่าง โช้คอัพ และ A-arm มีให้ แต่ของจำพวก “ตกแต่ง” ไม่รวมนะครับ พวก ล้อ เกจ์วัด เบาะ อะไรพวกนี้ลูกค้าต้องจ่ายเพิ่มเอง ซึ่งงบประมาณอาจจะมีเพิ่มกว่านี้ได้ ถ้าลูกค้าอยากจะได้ “ของเล่นไฮโซ” เช่น ท่อไทเทเนียม เทอร์โบเกรดสูง ราคาก็จะเพิ่มไปตามของที่เลือกใช้…
- “เชฟตาหวาน” แชมป์ในรุ่น LENSO STREET TRUCK RADIAL by FLEX TURBO ด้วยสถิติเวลา Battle รอบชิง “10.9 sec” ของ “สาดอ๋อม” ทำเอง ขับเอง
- คันนี้จะสวยตรงที่ Fitment ล้อ จะพอดีๆ ซุ้ม ขับใช้งานได้ ไม่เสี่ยงแบบล้อล้น ก็มาสภาพรถบ้านจริงๆ
- รุ่น 1,600 กก. ที่มาแข่งในงานเรา จะบังคับ “ขนาดล้อและยางหน้า” ด้วยครับ ยางหน้าต้องกว้างไม่น้อยกว่า 215 มม. (อ้างอิงตามเบอร์ที่แก้มยาง) ขนาดล้อต้องไม่ต่ำกว่า 17 นิ้ว เพื่อบังคับเป็นตัวเลขชัดเจนกว่าคำว่า ล้อยางเดฟ เพื่อความเป็นรถบ้านจริงๆ
- พลาท้าย รายการเรามีกำหนดว่า “ให้เว้าเพื่อหลบเพลา” แต่ “ห้ามเว้าเพื่อหลบยาง” ความหมายแรก ให้ “เว้าโค้งด้านล่างของแชสซี” ได้ เนื่องจากรถโหลดเตี้ย เพลาท้ายจะกระแทกกับแชสซี จึงต้องเว้าหลบ ส่วนความหมายที่สอง “ห้ามเว้าด้านข้างของแชสซี” ถามว่าจะหลบยางทำไม ก็กติกากำหนดแล้วนี่ แต่อันนี้เรากัน “หดเพลาแคบเข้า” เพราะการหดเพลาแคบ จะได้เปรียบในการส่งกำลัง ยิ่งสั้นก็ยิ่งส่งกำลังได้เร็วกว่า จึงต้องป้องกันตรงนี้ไว้ครับ…
- สไตล์ของ สาดอ๋อม ไม่เน้นแรงม้ามากเกินไป คันนี้ 500 ปลายๆ เน้นว่า “ขับได้จริง” และ “ช่วง Power band กว้าง” ใช้งานได้เต็มๆ มีผลมากในช่วงออกตัวและต่อเกียร์
- เทอร์โบ ใช้ของ FLEX ถ้ารถแข่งก็ว่ายอดใบกันได้เต็ม 54 มม. แต่ถ้าจะเน้นทนด้วย แนะนำไม่เกิน 52 มม. เดี๋ยวแกนจะขาดไว เพราะรับแรงเหวี่ยงไม่ไหว
- แม้จะเป็น D-MAX ไฟเพชร บอดี้เก่า ก็เล่นได้ ข้อดี คือ ตัวรถมีราคาถูกกว่าตัว All new สามารถเอางบส่วนต่างมาโมดิฟายต่อได้ อันนี้แล้วแต่ชอบนะครับ
- ล้อหลังพอดีๆ ตามสูตร ไม่ควรรอง Adaptor หนาเกินไป เพราะตอนแข่งต้องออกตัวแรงๆ โอกาส “นอตขาด” มีสูง
- การเลือกข้อเหวี่ยง เพื่อขยายเป็น 3.0 ลิตร ก็มีตั้งแต่ข้อ MRX หรือ 4JG จาก Trooper แล้วแต่เลือก ก้านสูบ MRX เลือกได้เลย ส่วนลูกสูบ ก็มี MRX หรือ ลูกเดิมโอเวอร์ไซซ์ + 0.75 มม. ทำให้ความจุเพิ่มขึ้นมาใกล้ๆ 3.1 ลิตร
- ท่อไอดี ย้ายปากทางเข้า จากเดิมเข้าด้านบน ทำให้เดินท่อโค้งสูงมากไม่สวย เลยย้ายมาด้านข้าง จบง่ายและสวยกว่า
- อินเตอร์คูลเลอร์ BLITZ 4 นิ้ว
Special Thanks
Facebook/ZARD AOM Driver & Service
Tel. 09-5196-3133